วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พาสปอร์ต (passport) สำคัญหรือไม่ มีกี่ประเภท ทำที่ไหน

ในการที่เราจะออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศ เราจะขาดสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทางไม่ได้เลยละค่ะ นั่นก็คือ พาสปอร์ต หรือ หนังสือเดินทางนั่นเอง

ความหมายของพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง)

หนังสือเดินทางไทย (Thai passport) เป็นหนังสือเดินทางที่ออกให้เฉพาะประชาชนไทย โดยกองหนังสือเดินทางกระทรวงการต่างประเทศ สามารถออกในประเทศไทยโดย หน่วยงานในสังกัด กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ บางกรณีอาจจะออกได้ที่ สถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ หรือสถานกงสุลไทยทั้ง 86 แห่ง


ลักษณะของพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง)

หนังสือเดินทางประเทศไทยสำหรับประชาชนทั่วไปรุ่นปัจจุบันจะมีสีแดงเลือดหมูโดยมีตราครุฑอยู่ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) อักษรและสัญลักษณ์ที่หน้าปกเป็นสีทอง

ขนาด : หนังสือเดินทางมีขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 12.5 เซนติเมตรมีจำนวนหน้าทั้งหมด 50 หน้า

ข้อมูลภายในเล่ม : ข้อมูลจำเพาะผู้ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางประเทศไทยจะมีข้อมูล 2 ภาษา เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้

  • รหัส (Type) 'P' อักษรย่อสำหรับคำว่า "Passport"
  • ประเทศ (Country code) "THA" สำหรับประเทศไทย
  • หนังสือเดินทางเลขที่ (Passport No.) มีรูปแบบเป็น A123456 (ตัวอักษรหนึ่งตัวตามด้วยตัวเลขหกหลัก)
  • นามสกุล (Surname) เป็นภาษาอังกฤษ
  • คำนำหน้าชื่อ ชื่อ (Title Name) เป็นภาษาอังกฤษ
  • ชื่อภาษาไทย (Name in Thai) ประกอบด้วยคำนำหน้า ชื่อ และนามสกุลเป็นภาษาไทย
  • สัญชาติ (Nationality) "THAI" สำหรับประชาชนไทย
  • วันเกิด (Date of birth) ในรูปแบบ DD-MMM-YYYY (วัน เดือน ปีค.ศ.) เช่น 20 NOV 2006
  • เลขประจำตัวประชาชน (Personal No.)
  • เพศ (Sex) "M" สำหรับบุรุษ หรือ "F" สำหรับสตรี
  • ส่วนสูง (Height) หน่วยเป็นเมตร
  • สถานที่เกิด (Place of birth) โดยทั่วไปจะเป็นจังหวัดที่เกิด
  • วันที่ออก (Date of issue) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด
  • วันที่หมดอายุ (Date of expiry) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด โดยจะหมดอายุในอีก 5 ปีให้หลัง
  • ออกให้โดย (Authority) โดยทั่วไปจะเป็น "MINISTRY OF FOREIGN AFFAIR"
  • ลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง (Signature of bearer)
ประเภทของพาสปอร์ต (หนังสือเดินทาง)
passport หนังสือเดินทางประเทศไทยในปัจจุบันมี 4 ประเภท ดังนี้

1. หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู) ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี

2. หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม) หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว โดยมีข้อกำหนดออกเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ

3. หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด) ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
  1. พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  2. พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
  3. พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
  4. ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
  5. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
  6. ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
  7. ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
  8. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
  9. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
  10. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
  11. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
  12. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
  13. คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
  14. บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย
4. หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว) นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ประเภทพิเศษ คือ
  1. หนังสือเดินทางพระ ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม
  2. หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น

ขั้นตอนการยื่นขอ หนังสือเดินทางใหม่

ขั้นตอนที่ 1 รับบัตรคิว
ขั้นตอนที่ 2 ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลักหากไม่มีเลข 13 หลัก ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านมาแสดงพร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูล
ขั้นตอนที่ 3
  • เก็บข้อมูลชีวภาพ (วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ขวาและนิ้วชี้ซ้ายด้วยเครื่องสแกนข้างละ 2 ครั้ง และถ่ายรูป 2 ครั้ง)
  • แจ้งความประสงค์ที่จะขอรับเล่มทางไปรษณีย์

ขั้นตอนที่ 4 ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และค่าส่งไปรษณีย์ (35 บาท) รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่มท่านจะได้รับหนังสือเดินทาง ดังนี้
  • หากยื่นที่กรมการกงสุล ผู้ร้องสามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ
  • หากยื่นที่สำนักงานสาขาในกรุงเทพฯ (ปิ่นเกล้าและบางนา) ผู้ร้องจะได้รับเล่มภายใน 3 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง หากรับทางไปรษณีย์จะได้รับใน 5 วันทำการ
  • กรณียื่นคำร้องที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัดและขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ผู้ร้อง (ในเขตเมือง) จะได้รับหนังสือเดินทางภายใน 5 วันทำการ หากยื่นที่กรมการกงสุล ผู้ร้องสามารถรับหนังสือเดินทางได้ 2 วันทำการไม่นับวันยื่นคำร้อง
           โดยที่กระทรวงฯ ได้ติดตั้งเครื่องอ่านหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จำลองเพื่อผู้ร้องสามารถทดสอบการผ่านเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยอัตโนมัติไว้ 1 เครื่อง ที่กรมการกงสุล ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มารับเล่มด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ถือหนังสือเดินทางมีความคุ้นเคยกับการใช้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ ในกรณีจำเป็น อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับแทนหรืออาจร้องขอให้จัดส่งทางไปรษณีย์ (EMS)

การให้ผู้อื่นรับหนังสือเดินทางแทน

           ผู้ที่ยื่นคำร้องที่ไม่สามารถมารับหนังสือเดินทางเอง สามารถให้ผู้อื่นมารับแทนได้ โดยนำใบรับหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ขอหนังสือเดินทาง และบัตรประชาชนของผู้รับแทน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับแทน 1 ชุด เพื่อเป็นหลักฐานการรับหนังสือเดินทาง

หน่วยงานในสังกัด กองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ

กรุงเทพ

  • กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ อาคารกรมการกงสุล 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 
    โทร. 0-2981-7171-99 โทรสาร. 0-2981-7256
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา ศูนย์การค้าเซ็ลทรัลซิตี้ บางนา บริเวณลานจอดรถ ชั้น P9
    โทร.0-2383-8401-3 โทรสาร 0-2383-8398
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ชั้น 8 ถนนบรมราชชนนี 
    โทร. 0-2884-8831 , 0-2884-8838 โทรสาร 0-2884-8825

จังหวัดเชียงใหม่

  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 
    โทรศัพท์ 0-5389-1535-6 โทรสาร 0-5389-1534

จังหวัดสงขลา

  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดสงขลา . ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) ชั้น 1 ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 9000 
    โทรศัพท์ 0-7432-6510-1 โทรสาร 0-7432-6506

จังหวัดขอนแก่น

  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ราชการ จังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ
    โทรศัพท์ 0-4324-2707, 0-4324-3462, 0-4324-2655 โทรสาร 0-4324-3441
ข้อมูลจาก wonderfulpackage.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น